เมล็ดพันธุ์ผัก ต้นกล้า โรงเรือน อุปกรณ์การเกษตร โรคและแมลง อาหารเสริม ผลสด
เมล็ดพันธุ์คุณภาพ






108AGRIEQUIPMENT.COM
DUCKAGRO.COM

ทำไมต้องปรับสภาพดินก่อนปลูก

    
  • ทำไมต้องปรับสภาพดินก่อนปลูก

ดินที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชควรจะต้องมีองค์ประกอบของดิน 4 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นหินแร่หรือ อนินทรีย์วัตถุอยู่ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร ส่วนที่เป็นอินทรีย์วัตถุ ซึ่งเกิดจากการเน่าเปื่อยผุพังหรือการสลายตัวของซากพืชและสัตว์ ประ มาณ 5 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร ส่วนที่เป็นช่องว่างขนาดใหญ่ในดิน ซึ่งมีอากาศอยู่ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร และส่วนที่เป็นช่องว่างขนาดเล็กในดินซึ่งช่วยเก็บรักษาน้ำ ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร ตามที่กล่าวไว้แล้วในบทที่ 4 อย่างไรก็ตามดินโดยสภาพธรรมชาติทั่วๆ ไปจะมีความแตกต่างกันในสัดส่วนขององค์ประกอบข้างต้นทำให้ดินแต่ละแห่งมีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ไม่เท่ากัน ทั้งนี้อยู่กับวัตถุต้นกำเนิดและพัฒนาการของดิน แต่อย่างไรก็ตามสามารถแบ่งสภาพดินที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมดินให้กับพืช 3 ด้านด้วยกัน คือ สภาพทางเคมี สภาพทางฟิสิกส์ และสภาพทางชีวของดิน ดังนั้นโดยความหมายของหลักการเตรียมดิน จึงหมายถึงการปรับปรุงดินให้สภาพทางฟิสิกส์ สภาพทางเคมี และสภาพทางชีวภาพของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเจริญเติบโตของพืชนั่นเอง


วัตถุประสงค์ในการเตรียมดิน

    จากข้างต้นดังที่กล่าวไว้ว่าการเตรียมดินเป็นการปรับปรุงสภาพทางฟิสิกส์ สภาพทางเคมี และสภาพทางชีวภาพของดินให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืชนั้น โดยแนวทางของวิธีการปฏิบัติในการเตรียมแปลงปลูกพืชโดยทั่วไปนั้น ผู้ปฏิบัติควรกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการแต่ละครั้งไว้ดังนี้

    1) เพื่อกำจัดวัชพืชให้หมดไปจากพื้นที่ปลูก ทั้งนี้เพื่อลดการแก่งแย่งแข่งขันปัจจัยการผลิตพืชต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น แสง น้ำ และแร่ธาตุอาหารต่างๆ ระหว่างวัชพืชกับพืชปลูก ทำให้พืชปลูกสามารถเจริญเติบโตงอกงามได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่มีคู่แข่ง

    2) เพื่อปรับปรุงโครงสร้าง สมบัติทางฟิสิกส์ของดินในทุกๆ ด้านให้ดีขึ้น สมบัติดังกล่าวได้แก่ การมีช่องว่างอากาศในเม็ดดินเพิ่มขึ้น การเพิ่มความสามารถการเก็บรักษาความชื้นของดินและการระบายน้ำของดิน ตลอดถึงการย่อยดินให้แตกมีขนาดเหมาะสมต่อการงอกของเมล็ดและการเจริญเติบโตของรากต้นกล้า

    3) เพื่อเป็นการจัดเตรียมแปลงปลูก เตรียมแถวปลูกให้เหมาะสมกับพืชที่จะปลูก ตลอดทั้งเพื่อการปฏิบัติการใช้เครื่องมือ เครื่องทุ่นแรงต่าง ๆ หลังจากที่พืชงอกแล้ว


ประโยชน์ในการเตรียมดิน

    การเตรียมดินที่ดีก่อนการปลูกพืชนั้น มีความจำเป็นอย่างมากนอกจากจะเพื่อการงอกของเมล็ดตั้งแต่เริ่มการปลูก การลดจำนวนคู่ต่อสู้คือตัววัชพืชที่ไปแก่งแย่งปัจจัยการผลิต การปรับปรุงสมบัติทางฟิสิกส์ของดินในด้านต่างๆ และการจัดเตรียมแปลงปลูกให้เหมาะสมแล้ว กิจกรรมต่างๆ หลังการเตรียมดินจะเป็นประโยชน์ต่อเนื่องกับดินและพืชต่อไปดังนี้ คือ

    1) สามารถเก็บความชื้นในดินได้สูง ดินที่เก็บความชื้นได้สูงนั้นนับว่ามีความสำคัญต่อพืชที่ปลูกในแถบค่อนข้างแห้งแล้งมาก ทั้งนี้เพราะเหตุว่าพื้นที่ดังกล่าวมักไม่ได้รับน้ำฝนอย่างพอเพียงในฤดูกาลปลูก พื้นที่ลักษณะนี้หากจะไถทิ้งไว้สักปีหนึ่งก็สามารถจะปลูกได้อย่างดี ทั้งนี้เพราะจากการที่เราไถทิ้งไว้นั้น จำนวนน้ำฝนจะถูกเก็บกักไว้ในดิน และความชื้นอันนี้เอง เมื่อรวมกับความชื้นในระหว่างฤดูกาลเพาะปลูกพืชจะทำให้พอเพียงต่อการเจริญเติบโตของพืช การสงวนความชื้นในลักษณะนี้อาจนำไปใช้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ แม้ในเขตที่มีความชื้นแล้วก็ตาม

    2) การทำลายวัชพืช วัชพืชใช้น้ำ และอาหารพืชในดินเป็นปริมาณมากการทำลายวัชพืชจึงเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งในการสงวนความชื้น

    3) การถ่ายเทอากาศของดิน แปลงเพาะปลูกพืชที่ได้เตรียมไว้อย่างดีนั้นจะทำให้อาหารพืชต่างๆ พร้อมที่จะถูกพืชนำไปใช้ได้ทันที ความจริงอันนี้สืบเนื่องมาจากการถ่ายเทของอากาศได้อย่างทั่วถึงเป็นประการสำคัญ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าอากาศมีความจำเป็นต่อกิจกรรมทางเคมี และชีวะในดินอย่างมาก การเตรียมดินเท่ากับทำให้ดินได้ถูกอากาศ อันจะทำให้พวกแร่ธาตุอาหารพืชถูกนำเอาไปใช้ได้ดีขึ้นทั้งนี้โดยผ่านกระบวนการทำปฏิกริยากับออกซิเจน เช่น การเกิดไนเตรทในดิน เป็นต้น

    4) ทำให้อินทรีย์วัตถุเกิดประโยชน์แก่ดิน ในดินที่เตรียมไว้อย่างดีนั้น พวกอินทรีย์วัตถุซึ่งไถกลบหรือเพิ่มให้แก่ดินหรือให้ทั้ง 2 อย่างนั้นจะถูกกลบอยู่ภายใต้ผิวดิน วัตถุต่างๆ เหล่านั้นรวมกับแร่ธาตุอาหารพืชที่ให้ ทำให้เกิดการเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ทำให้ดินมีความสามารถในการอุ้มน้ำไว้ดีขึ้นและยังปรับปรุงคุณภาพของดินให้ดีอีกด้วย

    5) ช่วยให้ดินย่อยและร่วนซุย พวกดินเหนียวจะทำให้เกิดแน่นตัวไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชได้ดี ทั้งนี้เพราะจุลินทรีย์ในดิน และรากพืชไม่สามารถจะทนทานต่อสภาพดินเช่นนี้ได้ ดินควรได้รับการไถ พรวนเพื่อให้เกิดการร่วนซุยได้ดีก่อนการหว่านเมล็ดพืชหรือก่อนการปลูกพืช

    ในดินบางชนิดที่ร่วนซุยมาก การปลูกพืชที่มีลำต้นสูงบางชนิด ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด ต้นกล้า จะตั้งตัวได้ไม่ดี โดยเฉพาะหากมีลมจัดหรือฝนตกหนักมาก ลำต้นจะหักล้มได้ง่าย การเตรียมดินประเภทนี้ควรทำให้แน่นตัวมากพอสมควร

    ปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้นนี้ จะเริ่มตั้งแต่การขุดกลบวัชพืช หรือปฏิบัติการไถ การคราดกำจัดวัชพืช การเก็บวัชพืชออก การย่อยพรวนดินให้มีขนาดเล็กลง การยกแปลงปลูก ทั้งนี้อาจใช้แรงคน สัตว์ต่าง ๆ หรือเครื่องจักร เครื่องทุ่นแรงต่างๆ หลายชนิด


แนวทางในการปรับปรุงดิน

    ดินแต่ละแห่งแต่ละที่มีศักยภาพหรือกล่าวว่ามีปัญหา มีข้อจำกัดในการปลูกพืชแตกต่างกันออกไป การปลูกพืชในดินใดๆ จึงต้องทราบข้อจำกัดของดินนั้นที่เป็นปัญหากับพืชที่ต้องการปลูกเสียก่อน

ลักษณะข้อจำกัดของดินเหนียวกับการปลูกพืช

    อนุภาคโครงสร้างของดินเหนียวมีลักษณะเป็นแผ่นแบน (plate-like particles) และมีขนาดเล็กมาก คือมีขนาดไม่เกิน 1/12,500 นิ้ว ดินพวกนี้โดยทั่วไปหากไม่มีอินทรีย์วัตถุ (organic matter) ปะปนอยู่เลย ตัวอนุภาคก็จะจับตัวกันแน่นจนแทบไม่มีช่องอากาศเหลืออยู่เลย และเมื่อดินได้รับน้ำ หรือฝนตก การระบายน้ำออกจากตัวจะทำได้ยาก ช่องว่างระหว่างอนุภาคดินมีน้อยและเล็กมาก จึงมีอากาศโดยเฉพาะออกซิเจนอยู่น้อยตามไปด้วย สภาพเช่นนี้มีผลทำให้รากพืชเจริญเติบโตไม่ได้หรือโตได้จำกัด รากที่เจริญเติบโตในดินเหนียว จะมีลักษณะกุดสั้น หรือเจริญเติบโตอยู่ได้เฉพาะชั้นผิวดินบนเท่านั้น อย่างไรก็ตามในส่วนดีของดินเหนียวก็คือสภาพทางเคมีของดินที่มีความสามารถดูดยึดประจุแร่ธาตุอาหารต่างๆ ไว้ได้สูง จึงมีความอุดมสมบูรณ์ในตัวเองที่เป็นแหล่งให้แร่ธาตุต่างๆ กับพืชได้อย่างดี

ลักษณะข้อจำกัดของดินทรายกับการปลูกพืช

    อนุภาคของดินทรายจะเป็นแบบทรงกลม มีขนาด 1/250 - 1/12 นิ้ว ผิวขรุขระโดยลักษณะการซ้อนจับตัวของอนุภาคทรงกลม ทำให้มีช่องว่างอากาศอยู่มาก จึงมีความสามารถในการดูดยึดน้ำไว้ได้น้อย หรือกล่าวคือมีความสามารถในการระบายน้ำออกจากตัวได้ดีนั่นเอง

    ผลจากการที่สามารถถ่ายเทอากาศ และระบายน้ำได้ดีนี้ ในทางตรงข้ามโดยสภาพสมบัติทางเคมีจะมีความสามารถในการดูดยึดแร่ธาตุอาหารที่ผิวมีน้อย จึงมีความสมบูรณ์ในตัวเองที่จะเป็นแหล่งปลดปล่อยแร่ธาตุต่างๆ ให้กับพืชน้อยตามไปด้วย

    โดยสภาพข้อจำกัดของดินทั้ง 2 ชนิด จะเห็นได้ว่าแนวทางของการปรับปรุงดินคือ เอาข้อดีหรือสมบัติที่ดีของอนุภาคดินแต่ละชนิดมารวมกัน เพื่อที่จะลดข้อเสียที่มีมากเกินไปของอนุภาคดินทั้ง 2 ชนิดนั้นออกไป ก็จะทำให้ได้ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช


ขอบคุณข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

.............................................................................................
หากท่านต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์คุณภาพ อุปกรณ์การเกษตร ทั้งปลีกและส่ง ติดต่อสอบถามได้ที่
บริษัท 108เทคโนฟาร์ม จำกัด
โทร. 092 528 1777
E-mail: [email protected]
www.108technofarm.com
Facebook: www.facebook.com/108technofarm
Line: @108technofarm
IG: 108technofarm
108 เทคโนฟาร์ม


แสดงความคิดเห็น
คุณสมบัติ วันที่ประกาศ 2017-12-19