เมล็ดพันธุ์ผัก ต้นกล้า โรงเรือน อุปกรณ์การเกษตร โรคและแมลง อาหารเสริม ผลสด
เมล็ดพันธุ์คุณภาพ






108AGRIEQUIPMENT.COM
DUCKAGRO.COM

แดดออกสลับฝนตก คนปลูกคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำ และอื่นๆ ต้องระวัง

    
  • แดดออกสลับฝนตก คนปลูกคะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำ และอื่นๆ ต้องระวัง
สภาพอากาศที่มีแดดออกสลับกับฝนตก และบางช่วงมีลมกระโชกแรงอย่างในระยะนี้ เกษตรกรผู้ปลูก พืชตระกูลกะหล่ำ อาทิคะน้า กะหล่ำปลี ผักกาดขาว กะหล่ำดอก บรอกโคลี กวางตุ้ง ฯลฯ ควรระวังผลผลิตเสียหายจากโรคต่างๆ โดยข้อมูลเตือนภัยการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ระบุถึงปัญหาที่ควรระวังดังนี้ 

1) โรคใบจุด (เชื้อรา Alternaria brassicicola และ A. brassicae ) ซึ่งเกิดได้ทุกส่วนและทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช 

         โดยอาการระยะต้นกล้า : เกิดแผลเล็กๆ สีน้ำตาลเข้มที่ลำต้น โดยพืชจะแสดงอาการคล้ายโรคเน่าคอดิน ทำให้ต้นกล้าชะงักการเจริญเติบโต

         อาการระยะต้นโตถึงระยะเก็บผลผลิต : มักพบบนใบและก้านใบ เกิดเป็นแผลจุดเล็กๆ สีเหลือง ต่อมาแผลขยายใหญ่ขึ้นเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ลักษณะเป็นวงค่อนข้างกลมเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆในกะหล่ำปลี ถ้าเกิดโรคหลังจากห่อหัวแล้ว และสภาพอากาศมีความชื้นสูง จะเกิดอาการเน่าอย่างรุนแรงทั้งหัวในกะหล่ำดอก และบรอกโคลี ถ้าเกิดอาการที่ดอก จะทำให้เกิดแผลสีน้ำตาล โดยจะเริ่มจากช่อดอกที่อยู่ริมนอกลามเข้ามาด้านใน หากเป็นรุนแรงดอกทั้งดอกจะถูกทำลายทั้งหมด

         ทั้งนี้ เชื้อสาเหตุโรคสามารถติดเมล็ด ทำให้เมล็ดสูญเสียความงอกหรืออาจแฝงตัวในเมล็ดพันธุ์ทำให้เกิดการระบาดของโรค เมื่อนำไปปลูกในฤดูถัดไป

         สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขนั้น

         1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค ไม่นำเมล็ดพันธุ์จากแปลงที่พบการเกิดโรคมาปลูก

         2. แช่เมล็ดในน้ำอุ่นประมาณ 50 องศาเซลเซียส (การเตรียมน้ำอุ่นโดยต้มน้ำให้เดือดแล้วเติมน้ำธรรมดาลงไปหนึ่งเท่า) นาน 20-30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อราไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 5-10 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม ก่อนปลูก

         3. หลีกเลี่ยงการปลูกในแปลงปลูกที่เคยมีการระบาดของโรค อย่างน้อย 3-4 ปี

         4. ไม่ปลูกพืชให้หนาแน่นจนเกินไป ควรให้มีแสงแดดส่องผ่านได้

         5. หมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อโรค

         6. เมื่อเริ่มพบโรคในระยะกล้าควรถอนต้นกล้านำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที ถ้าเริ่มพบโรคในระยะต้นโต ควรตัดใบที่เป็นโรคออกก่อนพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อะซอกซีสโตรบิน 25% เอสซี อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือคลอโรทาโลนิล 50% เอสซี อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน


2) เพลี้ยอ่อน ซึ่งสามารถเข้าทำลายได้ทั้งในระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัย โดยการดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชทั้งส่วนยอด ใบอ่อน และใบแก่

         ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัด คือ ส่วนยอดและใบจะหงิกงอ เมื่อจำนวนเพลี้ยอ่อนเพิ่มมากขึ้นพืชจะเหี่ยว ใบที่ถูกทำลายจะค่อยๆ มีสีเหลือง

         เมื่อพบการระบาดใช้สารฆ่าแมลง โพรไทโอฟอส 50% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

 

3) หนอนใยผัก ตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ หรือกลุ่มเล็กๆ ทั้งบนใบและใต้ใบพืช แต่จะพบใต้ใบพืชเป็นส่วนใหญ่ หนอนมีลักษณะเรียวยาว หัวแหลมท้ายแหลม ส่วนท้ายมีปุ่มยื่นออกเป็น 2 แฉกเมื่อถูกตัวจะดิ้นอย่างแรงและสร้างใยพาตัวขึ้นลงระหว่างพื้นดินกับใบพืชได้ หนอนจะกัดกินผิวใบทำให้ผักเป็นรูพรุนคล้ายร่างแห จากนั้นเข้าดักแด้บริเวณใบพืช โดยมีใยบางๆ ปกคลุมติดใบพืช สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขนั้น

         1. การใช้กับดักชนิดต่างๆ ได้แก่

         - กับดักกาวเหนียวสีเหลือง เป็นกับดักทรงกระบอกหรือกระป๋องน้ำมันเครื่องสีเหลืองทาด้วยกาวเหนียวทุก 7-10 วันครั้ง สามารถจับผีเสื้อหนอนใยผักได้เฉลี่ย 16 ตัวต่อวันต่อกับดัก โดยจับผีเสื้อเพศเมีย : เพศผู้ ได้ 0.79 : 1 และเมื่อติดตั้งกับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดักต่อไร่ สามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์


         - กับดักแสงไฟ หลอดสีน้ำเงิน 20 วัตต์ เป็นหลอดเรืองแสงที่เหมาะสมในการใช้จับผีเสื้อหนอนใยผักมากที่สุด มีราคาถูกกว่าหลอด blacklight-blue 20 วัตต์ และปลอดภัยไม่มีอันตรายจากแสงอุลตร้าไวโอเล็ต ในการติดตั้งกับดักแสงไฟควรติดตั้งรอบนอกแปลงผัก และควรดำเนินการติดตั้งพร้อมกันในพื้นที่

         2. การใช้โรงเรือนตาข่ายไนล่อน หรือการปลูกผักกางมุ้ง โดยการปลูกผักในโรงเรือนที่คลุมด้วยตาข่ายไนล่อนขนาด 16 mesh (256 ช่องต่อตารางนิ้ว) สามารถป้องกันการเข้าทำลายของหนอนใยผักและหนอนผีเสื้ออื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้โรงเรือนตาข่ายไนล่อนต้องปิดอย่างมิดชิดตลอดเวลาเพื่อป้องกันผีเสื้อเพศเมียเล็ดลอดเข้าไปวางไข่

         3. การใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ การใช้เชื้อแบคทีเรีย (บาซิลลัส ทูริงเยนซิส) ปกติในธรรมชาติจะพบเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนใยผัก แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อปริมาณเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้หนอนใยผักตาย ปัจจุบันจึงมีการผลิตเชื้อแบคทีเรียในรูปการค้าออกจำหน่ายที่สำคัญมี 2 สายพันธุ์ คือ Bacillus thuringiensissubsp. aizawai และ Bacillus thuringiensissubsp. kurstaki อัตรา 100-200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (ไม่ควรใช้ในแหล่งปลูกผักภาคกลางในช่วงที่มีการระบาดมากพิจารณาการใช้อัตราสูงและช่วงเวลาพ่นถี่ขึ้น หรือพ่นสลับสารฆ่าแมลง)

         4. การใช้วิธีทางเขตกรรม สามารถช่วยลดการระบาดของหนอนใยผักได้ เช่น การไถพรวนดินตากแดด หรือการทำลายซากพืชอาหาร หรือการปลูกพืชหมุนเวียน ทั้งนี้เพื่อขัดขวางการขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่องของหนอนใยผัก

         5. การใช้ระดับเศรษฐกิจและการสุ่มตัวอย่าง ในการพิจารณาพ่นสารฆ่าแมลงป้องกันกำจัดหนอนใยผักควรสำรวจตรวจนับจำนวนหนอนใยผักก่อนตัดสินใจโดยทำการสำรวจแบบซีเควนเชียล ซึ่งเป็นวิธีการที่รวดเร็ว สะดวก และมีความแม่นยำสูง ผลการใช้ตารางสำรวจสามารถลดการใช้สารฆ่าแมลงได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

         6. การใช้สารฆ่าแมลง เนื่องจากหนอนใยผักเป็นแมลงที่สามารถสร้างความต้านทานต่อสารฆ่าแมลงได้รวดเร็ว และหลายชนิด การพิจารณาเลือกใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันกำจัดหนอนใยผักไม่ให้เข้าทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้ สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดหนอนใยผักได้แก่ สไปนีโทแรม 12% เอสซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% เอสซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อินดอกซาคาร์บ 15% อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลเฟนไพแร็ด 16% อีซี อัตรา 40-60 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 60-80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร (ควรใช้สลับกลุ่มสารและใช้ไม่เกิน 2-3 ครั้งต่อฤดู และใช้สลับกับการใช้เชื้อแบคทีเรียเมื่อการระบาดลดลง เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความต้านทาน)

ผักจำพวกผักกาดเหล่านี้เป็นผักเศษรฐกิจของเกษตรกรหลายคน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องคอยดูและอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ผลผลิตถูกทำลาย ซึ่งนอกจากการรักษาอาการแล้ว การป้องกันก่อนเกิดโรคก็ถือเป็นเรื่องสำคัญนะจ๊ะ

.............................................................................................
หากท่านต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์คุณภาพ อุปกรณ์การเกษตร ทั้งปลีกและส่ง ติดต่อสอบถามได้ที่
บริษัท 108เทคโนฟาร์ม จำกัด
โทร. 092 528 1777
E-mail: [email protected]
www.108technofarm.com
Facebook: www.facebook.com/108technofarm
Line: @108technofarm
IG: 108technofarm
108 เทคโนฟาร์ม


แสดงความคิดเห็น
คุณสมบัติ วันที่ประกาศ 2018-04-20